ไม้เท้า ถือเป็นอุปกรณ์ช่วยเดิน ที่มีผู้ใช้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีการใช้ไม้เท้า ในชีวิตประจำวัน ไม้เท้าจึงถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก หรือต้องการความช่วยเหลือในการพยุงตัว โดยทั่วไป ไม้เท้าสามารถช่วยรับน้ำหนักตัวบางส่วนแทนขาข้างที่อ่อนแรง หรือมีอาการเจ็บปวด ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหว โดยการเพิ่มฐานรองรับน้ำหนักร่างกายกว้างขึ้น ทำให้ผู้ใช้มีความมั่นใจในการเคลื่อนไหวมากขึ้น

ไม้เท้าสำหรับค้ำยัน หรือไม้เท้าช่วยพยุง เมื่อก่อนนั้น เป็นเพียงไม้เท้าธรรมดาทั่วไป มักทำจากไม้ และมีลักษณะเหมือนคันร่ม แต่ในปัจจุบัน ไม้เท้ามีการพัฒนาไปมากมายหลายรูปแบบ ทำจากวัสดุหลากหลาย และมีหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างเหมาะสม

ปัจจุบัน ไม้เท้าสามารถแบ่งเป็นชนิดต่างๆได้ดังนี้

1. ไม้เท้าแบบมาตรฐาน (standard cane)
เป็นไม้เท้าปุ่มเดียว ที่ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมการทรงท่า อย่างไรก็ตาม ลักษณะของที่จับของไม้เท้าประเภทนี้ ทำให้การลงน้ำหนักผ่านแขนไม่อยู่ในแนวของไม้เท้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงในการเคลื่อนไหวลดลงได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ที่ต้องการใช้แขนช่วยรับน้ำหนักตัวแทนขา

2. ไม้เท้าปรับระดับ (offset cane)
เป็นไม้เท้าปุ่มเดียว ที่จะช่วยกระจายน้ำหนักได้มากกว่าไม้เท้าแบบมาตรฐาน เนื่องจากมีจุดรับน้ำหนักอยู่ตรงกับตำแหน่งของมือที่จับไม้เท้า จึงช่วยให้สามารถใช้แขนรับน้ำหนักตัวบางส่วนได้ดีกว่าไม้เท้าแบบมาตรฐาน เป็นรูปแบบไม้เท้าที่มีการพัฒนาการออกแบบให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทนทานมากขึ้น มีลวดลายสีสันสวยงาม ดัดแปลงให้สามารถพับเก็บได้ หรือดัดแปลงเป็นเก้าอี้ สำหรับพักชั่วคราวได้ เป็นต้น

3. ไม้เท้า 3 ขา (tripod cane) และไม้เท้า 4 ขา (quad cane)
เป็นไม้เท้าแบบที่มีปุ่มรับน้ำหนัก 3 และ 4 ตำแหน่ง ตามลำดับ ฐานรับน้ำหนักกว้างขึ้น จึงช่วยให้ผู้ใช้สามารถลงน้ำหนักที่แขนได้มากขึ้น จึงมีความมั่นคงกว่าแบบปุ่มเดียว และผู้ใช้ยังสามารถปล่อยมือจากไม้เท้า เพื่อหยิบจับสิ่งของ โดยที่ไม้เท้ายังตั้งอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม้เท้าทั้ง 2 ประเภทนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อปลายด้านล่างทุกด้าน สัมผัสพื้นทั้งหมด ขณะที่มีการลงน้ำหนักผ่านไม้เท้า ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดขณะเดิน ที่เกิดจากภาวะข้อเสื่อม ระดับปานกลางถึงรุนแรง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ฐานที่กว้างขึ้น อาจจะมีผลทำให้ไม้เท้ามีน้ำหนักมากขึ้น และอาจทำให้ไม่สะดวกคล่องตัวเท่ากับไม้เท้าปุ่มเดียว

วิธีการเลือกไม้เท้า
- ด้ามจับ ควรมีขนาดที่พอเหมาะ เมื่อจับแล้ว รู้สึกกระชับ ไม่ลื่น มียางหุ้มส่วนที่สัมผัสพื้น เพื่อกันลื่น ซึ่งถ้าใช้ไปนานๆ จุกยางอาจสึกมาก ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่
- ควรปรับระยะสั้นยาวได้ ความยาวของไม้เท้าที่เหมาะสม คือ เมื่อยืนแล้ว มือจะจับอยู่ระดับเดียวกับข้อมือ โดยข้อศอกจะงอประมาณ 20 - 30 องศา

ข้อควรระวัง ในการใช้ไม้เท้า
- ระยะก้าวขา ไม่สม่ำเสมอ ก้าวขายาวเกินไป หรือก้าวขาไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของไม้เท้า
- ระดับไม้เท้าสูงเกินไป ทำให้ข้อศอกงอ ต้องใช้กล้ามเนื้อต้นแขนมาก ในการเดิน เป็นเหตุให้ปวดแขน ปวดไหล่
- เดินงอสะโพก หรือแอ่นสะโพก ซึ่งอาจเกิดจากไม้เท้าสั้นหรือยาวเกินไป หรือเกร็งกล้ามเนื้อขามากเกินไป

ย่อบทความจาก http://www.healthymax.co.th/idea_detail.aspx?id=25
ขอบคุณรูปภาพจาก By Fonquebure - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6297001